วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรงเรือนและอุปกรณ์


โรงเรือนและอุปกรณ์
โรงเรือน
โรงเรือนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเลี้ยงไก่ การออกแบบโรงเรือนได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมจะทำให้ไก่อยู่อย่างสบาย มีการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตดี แต่สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ดังนั้นจึงมีปัญหาเกี่ยวกับอากาศร้อน การออกแบบโรงเรือน จึงควรเน้นทางด้านการระบายอากาศที่ดี (อาวุธ, 2538)
การระบายอากาศในโรงเรือน
สภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ คือ ประมาณ 65 – 75 องศาฟาเรนไฮต์ (18.3 – 23.9 องศาเซลเซียส) ไก่จะเริ่มอึดอัดและสมรรถภาพการผลิตลดลง ความร้อนภายในโรงเรือนเกิดจากการแผ่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ผ่านหลังคาเข้ามาภายในโรงเรือน และความร้อนจากการเมแทบอลิซึมของตัวไก่เอง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไก่จะกินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตลดลง ความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำลง อัตราการตายสูงขึ้น ไก่จะกินน้ำมากขึ้นและเพิ่มอัตราการหายใจ การระบายอากาศจะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน ระบายความชื้น กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจและกำจัดก๊าซแอมโมเนียม เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศเมื่อเกิดก๊าซนี้ขึ้นจะกระจายอยู่ในฝูงไก่ อัตราการระบายอากาศภายในโรงเรือนจะแตกต่างกันตามชนิดของโรงเรือน ขนาดไก่ ความหนาแน่นของฝูง และอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม (อาวุธ, 2538)
ประเภทของโรงเรือน
อรวรรณ (2547) ได้จัดแบ่งประเภทของโรงเรือนไว้ 2 ประเภท ดังนี้
                 1.โรงเรือนระบบเปิด (open house) หมายถึง โรงเรือนที่อากาศเข้าออกในโรงเรือนได้ สภาพแวดล้อมในโรงเรือนจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศภายนอก ซึ่งโรงเรือนแบบเปิดนั้น ไก่จะอยู่ไม่สบายและให้ผลผลิตต่ำ
                  2.โรงเรือนระบบปิดหรือโรงเรือนระบบระเหยไอเย็นจากน้ำ (evaporative cooling system Evap) หมายถึง โรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ ผนังโรงเรือนจะปิดทึบ และบังคับอากาศที่จะผ่านเข้าโรงเรือนให้ผ่านแผ่นทำความเย็นที่มีน้ำไหล ผ่านทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลงและมีระบบดูดอากาศออกภายนอกโรงเรือน
โรงเรือนที่ใช้ในการทดลองนี้เป็นโรงเรือนระบบปิด มีพัดลมและแผ่นทำความเย็นอยู่คนละด้านของโรงเรือน โดยแผ่นทำความเย็นจะอยู่ส่วนต้นของโรงเรือน พัดลมจะอยู่ด้านท้ายของโรงเรือน โดยผ่านแผ่นรังผึ้งที่เปียกน้ำทำให้อากาศเย็นลง จากนั้นจะผ่านเข้าในโรงเรือนแล้วสะสม ความร้อนจากตัวไก่และความชื้นในโรงเรือนไปตลอดทาง สุดท้ายจะถูกพัดลมดูดออกไปจากโรงเรือน โรงเรือนจะต้องปิดมิดชิด ไม่มีรอยรั่วที่อากาศภายนอกจะเข้าในโรงเรือนได้เลย ยกเว้นเข้าทางแผ่นทำความเย็นทางเดียวเท่านั้น ด้านนอกโรงเรือนหน้าแผ่นทำความเย็นติดตั้งมุ้งลวดป้องกันแมลงและหนูไม่ให้เข้าในโรงเรือน
ส่วนประกอบที่สำคัญของโรงเรือนระบบปิดที่ อวรวรรณ (2547) กล่าวไว้มี ดังนี้
           1. แผ่นทำความเย็น (cooling pad) มีหน้าที่ทำให้น้ำกระจายตัวมากขึ้น ทำให้การระเหยของน้ำดีขึ้น และทำให้อุณหภูมิของอากาศในแผ่นทำความเย็นต่ำกว่าบริเวณข้างเคียง แผ่นทำ ความเย็นทำจากกระดาษแล้วเคลือบด้วยเซลลูโลส เรียกว่า แผ่นรังผึ้ง หรือทำจากมุ้งไนล่อน
           2. พัดลมดูดอากาศ (exhaust fan) มีหน้าที่ดูดอากาศจากภายในโรงเรือนออก ลดการสะสมของความร้อน ความชื้น และก๊าซต่าง ๆ
           3. ท่อส่งและกระจายน้ำ (piping and pump) ทำหน้าที่ส่งน้ำและกระจายน้ำจากบ่อพักไปหล่อเลี้ยงแผ่นทำความเย็น  โดยท่อที่ติดตั้งไว้เหนือแผ่นทำความเย็น
           4. บ่อพักน้ำ (sump) มีหน้าที่เก็บพักน้ำเพื่อให้ไหลผ่านท่อส่งน้ำและกระจายน้ำ โดยใช้ปั๊มน้ำ ดูดน้ำจากบ่อพักซึ่งควรมีความจุ ¾ แกลลอน ต่อพื้นที่แผ่นทำความเย็น 1 ตารางฟุต
           5. ผ้าม่านกันลม (curtain) ใช้ปิดด้านข้างโรงเรือนทั้ง 2 ด้าน ทำจากพลาสติกหรือพีวีซีที่ผสม UV protect เพื่อไม่ให้ผ้าม่านกรอบ เมื่อต้องถูกแสงแดดนาน ๆ
           6. ชุดควบคุมอุณหภูมิ (thermostat) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมการทำงานของพัดลมและปั๊มน้ำ เนื่องจากโรงเรือนแต่ละโรงเรือนมีพัดลมหลายตัว เพื่อช่วยระบายอากาศหากอุณหภูมินอกโรงเรือนเย็นสบายอาจไม่ต้องเปิดพัดลมทุกตัว
          7. ชุดสัญญาณเตือนกระแสไฟฟ้าขัดข้อง (electrical alarm) เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าไฟฟ้าดับที่โรงเรือนใดบ้าง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับฝูงไก่ในโรงเรือนนั้น ๆ ได้
อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงไก่และควรมีประจำโรงเรือนต้องมีความพอเพียงต่อจำนวน
ไก่กระทงที่จะเลี้ยง อุปกรณ์ที่จำเป็นที่ อรวรรณ (2547) กล่าวไว้มีดังนี้
  1. อุปกรณ์ให้น้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติก รางน้ำอัตโนมัติที่ให้น้ำแบบจุ๊บ (nipple)
  2. อุปกรณ์ให้อาหาร เช่น ถาดอาหาร ถังอาหาร รางอาหาร รางอาหารแบบอัตโนมัติ
  3. อุปกรณ์ในการกกลูกไก่ เช่น เครื่องกกแบบใช้แก๊ส เครื่องกกใช้ไฟฟ้า แผงกั้น ล้อมกก 
4. อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ให้วัคซีน อุปกรณ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและอุปกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น